หลังสิ้นเสียงระเบิด และกรีดร้องจากผู้บาดเจ็บและผู้หนีตาย ก็มีผู้ให้ความเห็นว่า สาเหตุหลักของอุบัติเหตุครั้งนี้อาจจะมาจากก๊าซ LNG แล้วไอ้ก๊าซ LNG นี้มันคืออะไร ทำไมถึงทำระเบิดได้ วันนี้ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีคำตอบ
โดย รศ.ดร.ปราโมช เฉลยคำตอบว่า LNG ย่อมาจาก Liquefied natural gas ซึ่งก็คือ ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นสารตัวเดียวกับ CNG (Compressed Natural Gas) ซึ่งบ้านเราเรียก NGV (Natural Gas for Vehicle) ซึ่ง CNG จะมีการเก็บในสภาวะ “ก๊าซ” แต่สำหรับ LNG จะผ่านกระบวนการทำให้ก๊าซอยู่ในรูปของ “ของเหลว” โดยจะมีอุณหภูมิต่ำ ประมาณ - 160 องศาเซลเซียส
ซึ่งสอดคล้องกับ นายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน ก็บอกกับทีมข่าวฯ ว่า LNG ก็คือ NGV แต่ว่าเป็น NGV ที่ถูกอัดด้วยแรงดันสูง จนกระทั่งมันเปลี่ยนสภาพจากไอ ไปเป็นของเหลว เพื่อให้มันขนส่งได้ในปริมาณมากๆ เพราะฉะนั้นมันก็เป็นเชื้อเพลิงชนิดหนึ่ง
LNG ส่วนใหญ่ใช้ในโรงงาน แต่เป็นเชื้อเพลิงก็ได้ เริ่มใช้เรือโดยสารยุคน้ำมันแพง
นายมนูญ กล่าวต่อว่า ส่วนใหญ่ก็เอามาใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรม หรือจะเอามาใช้เป็นเชื้อเพลิงในยานพาหนะก็ได้ แต่การนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในยานพาหนะ ในบ้านเรามันยังไม่ค่อยแพร่หลายนัก โดยช่วงที่น้ำมันแพงๆ สมัยก่อน เขาจึงนำร่องมาใช้กับทางเรือ ซึ่งเห็นว่าใช้มาประมาณ 7-8 ปีแล้ว
“ก๊าซชนิดนี้ ส่วนใหญ่จะถูกขนด้วยทางเรือ หรือ รถบรรทุกขนาดใหญ่ ส่วนอุปกรณ์ที่ใช้เก็บ จะต้องถูกออกแบบมาอย่างดี เพื่อให้เก็บอุณหภูมิ -160 องศาเซลเซียส ซึ่งจะเป็นถัง 2 ชั้น คล้ายๆ กับถังที่เก็บ liquefied nitrogen ซึ่งเป็นก๊าซที่มีอุณหภูมิติดลบเท่าๆ กัน เวลาจะใช้ก๊าซ LNG มันก็จะระเหยออกมาใช้งาน” รศ.ดร.ปราโมช กล่าว
จุดติดไฟ LNG ยากกว่า LPG แต่ถ้าผสมกับอากาศลงตัว และมีประกายไฟก็บึมได้
ถึงตรงนี้ ทีมข่าวฯ สงสัยว่า มันไวไฟแค่ไหน ดร.ปราโมช จึงอธิบายว่า การเผาไหม้เหมือนกับ CNG คือ หากก๊าซรั่วผสมกับอากาศภายนอกประมาณ 5-15 เปอร์เซ็นต์ หากมีไฟหรือสะเก็ดไฟมาสปาร์ก ก็จะติดไฟได้ หากมากหรือน้อยกว่านั้นก็ไม่ติดไฟ
แล้วเมืองร้อนแบบบ้านเราละจะเป็นอย่างไร ดร.ปราโมช กล่าวว่า มันจะติดไฟได้มันต้องมีปริมาณออกซิเจนกับก๊าซธรรมชาติในสัดส่วนนี้ อุณหภูมิอาจจะมีผลบ้างต่อปริมาณ แต่ไม่ได้มีผลอย่างมาก
แล้วถ้าก๊าซพุ่งใส่ผิวหนังคนทั่วไป...ผอ.ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ กล่าวว่า ส่วนใหญ่ก็จะระเหยออกไป ยกเว้นว่าไปโดนส่วนที่พุ่งออกมา ก็จะทำให้ผิวหนังเกิดไหม้เพราะความเย็นจัดได้
ขณะที่ นายมนูญ กล่าวว่า LNG ติดไฟยากกว่า LPG เพราะ LNG จะมีจุดวาบไฟต่ำกว่า ก็คือโอกาสที่จะติดไฟต่ำกว่า ก็คือต้องอุณหภูมิสูงกว่าถึงจะติดไฟ
มีราคาสูงกว่า NGV แต่ข้อดีคือเก็บได้มาก ลดต้นทุนการขนส่ง
นายมนูญ กล่าวต่อว่า ราคามันสูงกว่า NGV แต่ผมไม่แน่ใจว่าเท่าไร...แต่ที่เรือเลือกจะใช้ คาดว่าน่าจะประหยัดกว่าในเชิงขนส่ง เนื่องจาก NGV มันจุได้น้อย มันเป็นแก๊ส มันขนส่งลำบาก ค่าขนส่งจึงแพง แต่ถ้าเป็น LNG สามารถขนได้ทีละมากๆ เนื่องจาก เป็นของเหลว และเมื่อใส่ถังไปแล้ว ก็ใช้ได้นาน ถ้าเป็น NGV แป๊บเดียวมันก็หมดแล้ว จึงจำเป็นต้องเติมบ่อย
ด้าน รศ.ดร.ปราโมช ระบุว่า ก๊าซตัวนี้มีราคาค่อนข้างสูง หากจะทำสถานีจ่ายก็ต้องใช้งบสูง คิดว่าไม่คุ้ม
2 ผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำ ข้อควรระวังใช้ LNG
ดร.ปราโมช เตือนว่า การใช้ LNG มีความปลอดภัยในระดับหนึ่ง แต่หากเราต้องระมัดระวังในการใช้ เพราะมันก็คือ ก๊าซธรรมชาติ แต่เราต้องเก็บรักษาให้ดี
ขณะที่ นายมนูญ ระบุคล้ายกันว่า อย่าให้มันรั่ว หากรั่วออกมาแล้วมันก็ต้องรีบจัดการ ถ้าปล่อยให้มันรั่วออกมาเยอะๆ มันก็สะสม ถ้ามีประกายไฟมันก็ลุกไหม้
“ผมว่าพลังงาน LNG มันเหมาะกับการใช้เป็นเชื้อเพลิงทุกชนิดแหละ จะเป็นเรือหรือเป็นรถมันได้ทั้งนั้น เพียงแต่ว่าคุณต้องควบคุมคุณภาพของเครื่องยนต์ ของถัง ของระบบทางเดิน มันเข้มงวด ปลอดภัย รัดกุม ถ้าระบบมันควบคุมดี มันไม่มีปัญหาหรอก จะอันตรายหรือไม่อยู่ที่การดูแล ให้มันปลอดภัย มีมาตรฐาน” ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งหมดนี้คือข้อมูลเกี่ยวกับ LNG พลังงานทางเลือกที่เรือแสนแสบเลือกใช้ แต่...จะติดไฟได้ก็ต่อเมื่อต้องมีสะเก็ดไฟ หรือประกายไฟ คำถามคือ ใครทำให้เกิดประกายไฟ เป็นการประมาทของใครคนใดคนหนึ่งหรือไม่...? คงต้องรอให้เจ้าหน้าที่และผู้เกี่ยวข้องไขคำตอบต่อไป.
Post A Comment:
0 comments: