ประชาทัณฑ์! เหตุการณ์ที่มักจะเกิดขึ้นควบคู่ไปกับเกือบทุกคดีของสังคมไทย ที่ประชาชนรู้สึกว่า ผู้ที่ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีนั้นๆ ประกอบอาชญากรรม โดยกระทำกับผู้ที่ตกเป็นเหยื่ออย่างทารุณ เหี้ยมโหด ผิดวิสัยของมนุษย์ที่เจริญแล้วพึงมี
แต่...สิ่งที่เกิดขึ้นจนแทบกลายเป็นเรื่องปกติ เสมือนว่าประเทศของเรานี้ การประชาทัณฑ์เป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้ และไม่ผิดกฎหมายนั้น อาจทำให้เราๆ ท่านๆ หลงลืมกันไปเสียแล้วหรือไม่ว่า การใช้มาตรการเยี่ยง ตาต่อตาฟันต่อฟัน นั้น อาจไม่ต่างอะไรกับการก่ออาชญากรรมใหม่ เพิ่มขึ้นมาอีก 1 คดี
แม้ในบางอารมณ์มันอาจขัดต่อสามัญสำนึกส่วนตัวของเราๆ ท่านๆ เอง ที่มองว่า คนร้ายที่ก่อเหตุอย่างเหี้ยมโหดนี้ สมควรรับโทษ "ประชาทัณฑ์" อย่างสาสมก็ตาม...นั่นก็เพราะในทางกฎหมายนั้น ผู้ที่ยังเป็นเพียงผู้ต้องหา ยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะได้รับคำตัดสินจากศาล
ซึ่งจากความจริงในข้อนี้ จึงทำให้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ อยากชวนท่านผู้อ่าน มาล้อมวงฟังนานาทัศนะ เกี่ยวกับสิทธิของผู้ต้องหา และข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการประชาทัณฑ์ ว่า ในทางกฎหมาย นั้น ผู้ที่ร่วมกันกระทำมีความผิดหรือไม่ และหากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ปล่อยให้เกิดขึ้น จะมีความผิดหรือไม่ รวมถึงเหตุการณ์เศร้าสลดในอดีต ที่กลายมาเป็นกรณีศึกษาในประเด็นนี้ จนถึงปัจจุบัน...
"น้องตุ้ย" เป็นหญิงสาวผิวขาว ร่างสันทัด ถูกชายที่ตัวใหญ่กว่าถือมีดจี้ที่คอ ลากถูไปมา ปากก็ร้องบอกกับเจ้าหน้าที่ว่า "ต้องการรถยนต์เพื่อไปหาพี่ชาย" โดยผู้คลุ้มคลั่งรายนี้ ทราบชื่อต่อมาคือ นายสมบัติ ขุนเทียนประดิษฐ์ อายุ 36 ปี สาเหตุที่เกิดอาการก่อนก่อเหตุใช้มีดจี้จับตัวประกันนั้น มาจากสาเหตุ "เมายาบ้า"
เชือดคอเหยื่อหลายแผล ร่างถูกลากขึ้นรถตำรวจ!
หลังเกิดเหตุ ได้มีการต่อรองกันอยู่นานหลายชั่วโมง กระทั่งตำรวจได้ยอมนำรถปิกอัพมารับ พร้อมกับให้เจ้าหน้าที่สายตรวจเป็นคนขับ แต่ระหว่างนั้นน้องตุ้ยก็มีแผลจากการถูกมีดเชือดที่คออยู่หลายแผลแล้ว เมื่อรถปิกอัพมาจอดเทียบ นายสมบัติ ได้ลากตัวน้องตุ้ยขึ้นไปที่กระบะหลังรถ พร้อมกับกดร่างของเหยื่อให้นอนลงไปยังท้ายกระบะ ส่วนคนร้ายผู้คลุ้มคลั่งก็นั่งอยู่ทางกราบขวาของรถ
รถค่อยๆ วิ่งออกไป กระทั่งถึงหน้าทางเข้าวัดเสมียนนารี ปกติแล้วเวลา 1 ชั่วโมงของคนทำงานปกติ มันช่างแสนสั้นนัก แต่สำหรับน้องตุ้ยกลับเป็นเวลาแห่งความหฤโหด คอของเธอค่อยๆ ถูกเชือดเฉือนทีละแผล ทีละแผล ร่างกายของเธอบอบช้ำจากแรงลากถู โดนมีดบาด
ระหว่างที่ขับรถไป เจ้าหน้าที่ก็ได้นัดแนะเพื่อหวังชาร์จชิงตัวประกัน แต่คนร้ายที่เหมือนคนไร้สติก็หวาดระแวง เปลี่ยนแผนให้ทำนู่นทำนี่ บอกว่าไม่ไปหาพี่ชายแล้ว และสั่งให้คนขับ ขับรถออกไปทางหลักสี่ คราวนี้เจ้าหน้าที่ตั้งใจจะขับรถไปทางโลคัลโรด เพื่อไปจุดหมาย สน. ทุ่งสองห้อง เพื่อหวังใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็นสถานที่ชิงตัวประกัน แต่ชายผู้คลุ้มคลั่งก็ไม่ยอม สั่งให้ขับรถไปเรื่อยๆ กระทั่งมาถึงหน้าศูนย์ลูกเรือการบินไทย ซึ่งก็เป็นจุดนัดชิงตัวประกันอีกจุดหนึ่ง และโอกาสก็มาถึง ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบเข้าบุกชาร์จชิงตัวประกันทันที!
ผลพวงครั้งนี้ นายสมบัติ ถูกยำจนมีอาการสมองบวม และตายในที่สุด ขณะที่เหยื่อสาว ได้ลาจากโลกอันโหดร้ายไปในเวลา 03.00 น. ด้วยแผลที่คอที่ถูกเชือดซ้ำๆ ถึง 15 แผล บางแผลลึกไปถึงหลอดลม กระดูกลำคอบางส่วนหัก นอกจากนี้ยังถูกแทงด้วยของมีคมเข้าที่ปอดและตับ สันนิษฐานว่าเสียเลือดกว่า 1,000 ซีซี ทำให้ขาดออกซิเจนเป็นเหตุให้หมดสติ การขาดออกซิเจนทำให้การทำงานของปอดสูญเสีย เนื้อเยื่อสมองบางส่วนตาย ทำให้เสียชีวิต
ขณะที่ผลการชันสูตรหนุ่มคลั่ง ที่ศีรษะมีรอยกระทบกระเทือนอย่างหนัก จนเยื่อหุ้มสมองฉีกขาด มีเลือดคั่ง ซี่โครงหัก 2 ข้าง ตรวจปัสสาวะพบพบสารแอมเฟตามีนจำนวนมาก บ่งบอกว่าเสพยาเสพติดมาก่อนและเป็นเวลายาวนาน
สิ่งที่เกิดขึ้น ได้มีเจ้าหน้าที่หน่วย "อรินทราช" คนหนึ่ง ได้ประเมินความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากการชิงตัวประกันครั้งนี้ รวม 8 จุด ประกอบด้วย
1. การประสานงานหน่วยอรินทราชให้รอผิดจุด ส่วนหนึ่งมาจากการประเมินสถานการณ์ผิดพลาดของตำรวจในพื้นที่ ที่คาดว่าจะสามารถแก้ปัญหาได้ แต่สุดท้ายตัวประกันและคนร้ายตายหมด
2. ไม่สามารถกันฝูงชนออกจากที่เกิดเหตุได้
3. ผิดหลักเกณฑ์การต่อรอง คือต้องต่อรองคนร้ายให้นานที่สุดจนเกิดอาการอ่อนล้า โดยหลักการที่ไม่ให้คนร้ายย้ายไปที่อื่น โอกาสที่ตัวประกันจะไม่ปลอดภัยมีมากที่สุด และคนเจรจาไม่จำเป็นต้องบอกว่าตัวเองเป็นใคร มีอำนาจตัดสินใจแค่ไหน
4. รถที่คนร้ายพาใช้ตัวประกันหลบหนี ถ้าคนร้ายต้องการใช้รถ ต้องมีการวางแผนว่าจะให้รถคนร้ายวิ่งไปทางไหน ความเร็วเท่าใด จะให้น้ำมันหมดใกล้เป้าหมายที่จะช่วยเหลืออย่างไร
5. การใช้อาวุธปืน การช่วยเหลือตัวประกันต้องประเมินว่าตัวประกันจะปลอดภัยที่สุด และควรประเมินได้ว่าเหยื่อที่ถูกคนร้ายจับกุมนั้น มีอันตรายถึงชีวิต เป็นเหตุเพียงพอได้แล้วว่าควรตัดสินใจใช้อาวุธจัดการกับคนร้าย
6. การประเมินสถานการณ์ผิดพลาด ตำรวจประเมินว่าเหยื่อบาดเจ็บไม่มาก จากการเห็นเลือดที่ไหลออกไม่มากนัก แต่ระหว่างที่รถเคลื่อน ปรากฏว่ารถที่ขับตามมาเป็นขบวน ผู้เห็นเหตุการณ์เห็นว่าคนร้ายตกใจจึงทำท่าแทงเหยื่อจากด้านหลัง ซึ่งคาดว่าแทงจริงๆ ซึ่งถือเป็นการประเมินผิดพลาด ตำรวจผู้ปฏิบัติไม่ได้คำนึงถึงความปลอดภัยของเหยื่อ
7. แผนการช่วยเหลือตัวประกันหลังชาร์จ จากภาพข่าวจะเห็นว่า ไม่รู้ใครต่อใครเป็นคนแบกตัวประกันออกมา แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ไม่มีอะไรผิดสังเกต
8. แผนชาร์จตัวประกันไม่รัดกุมเพียงพอ จะเห็นได้ว่า การชาร์จผิดหลักการค่อนข้างมาก เนื่องจากไม่สามารถป้องกันบุคคลภายนอกเข้ามาร่วมวงกระทืบคนร้ายได้ แต่ส่วนมากเป็นตำรวจจะมีอารมณ์ร่วมในการใช้เท้า เหมือนเจตนาจะฆ่าเขาให้ตายด้วย
“การกระทืบคนร้ายของตำรวจนั้นไม่มีในหลักสูตร หลักการที่เรียนมาลืมกันหมด ซึ่งหลักสูตรมีอยู่แล้วในการล็อกคนร้าย แต่ทุกคนลืมไปหมด ใช้แต่หลักกูกระทืบ” เจ้าหน้าที่หน่วยอรินทราชรายหนึ่งวิเคราะห์ไว้ หลังเกิดเหตุ...
ขณะที่ นักกฎหมายและสิทธิมนุษยชนในเวลานั้นมองเรื่องที่คนร้ายถูกประชาทัณฑ์จนเสียชีวิตว่า...
นายธนา เบญจาธิกุล เลขาธิการสภาทนายความ ในขณะนั้น ให้ความเห็นว่า ตามหลักของกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นตำรวจหรือประชาชน ไม่มีสิทธิไปรุมประชาทัณฑ์ผู้ต้องหา ต้องนำตัวไปให้ศาลตัดสิน เมื่อเกิดเหตุเช่นนี้ขึ้น คนที่ต้องมีความรับผิด คือ ตำรวจที่ควบคุมผู้ต้องหา ฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยต้องดูว่า ตำรวจปล่อยให้ชาวบ้านรุมประชาทัณฑ์ผู้ต้องหาโดยไม่ห้ามปรามหรือไม่ และตำรวจต้องติดตามประชาชนที่รุมประชาทัณฑ์ มาดำเนินคดี ฐานทำร้ายผู้อื่นจนถึงแก่ความตาย โดยไม่เจตนาด้วย
"จะยากหรือง่ายเรื่องนี้ก็เป็นคดีอาญา ตำรวจจะละเว้นไม่ได้ คดีนี้ ถ้าปล่อยไว้ต่อไปจะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี เพราะเป็นการกระทำผิดกฎหมาย"
ด้าน นายจรัล ดิษฐาอภิชัย กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในขณะนี้ ให้ความเห็นว่า ที่ผ่านมา ตำรวจไม่น้อย มักจะละเมิดสิทธิของผู้ต้องหา การรุมประชาทัณฑ์ครั้งนี้ ไม่รู้ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ความพยายามมากน้อยเพียงใด ในการสกัดกั้น และใครเป็นคนกระทำ มีประชาชนไปร่วมด้วยกันกี่คน ตรงนี้ตำรวจต้องรับผิดชอบ เพราะผู้ต้องหาอยู่ในการควบคุมของตำรวจ เป็นกรณีร่วมกันฆ่าผู้อื่น แต่ยังไม่ทราบว่ารัฐและสังคมมองเรื่องนี้อย่างไร
มองให้หลายมุม ถึงสิทธิผู้ต้องหา
เปิดกฎหมาย ความผิดจากเหตุรุมประชาทัณฑ์
|
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ผู้ใดทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่น เช่น ศีรษะแตก บาดเจ็บตามร่างกาย ไม่ได้ถึงขั้นเป็นอันตรายสาหัส ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 ผู้ใดกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย จนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำร้ายรับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือน ถึงสิบปี
อันตรายสาหัสนั้น คือ
(1) ตาบอด หูหนวก ลิ้นขาด หรือเสียฆานประสาท
(2) เสียอวัยวะสืบพันธุ์ หรือความสามารถสืบพันธุ์
(3) เสียแขน ขา มือ เท้า นิ้วหรืออวัยวะอื่นใด
(4) หน้าเสียโฉมอย่างติดตัว
(5) แท้งลูก
(6) จิตพิการอย่างติดตัว
(7) ทุพพลภาพ หรือป่วยเจ็บเรื้อรังซึ่งอาจถึงตลอดชีวิต
(8) ทุพพลภาพหรือป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่า ยี่สิบวัน หรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน
สิทธิผู้ต้องหาที่ถูกควบคุมมีสิทธิ ดังนี้
1. ผู้ต้องหาสามารถแจ้งหรือขอให้เจ้าพนักงานแจ้งให้ญาติหรือบุคคลที่ไว้วางใจ ทราบถึงการจับกุมและสถานที่ถูกควบคุม
2. ผู้ต้องหามีสิทธิที่จะพบทนายความเป็นการส่วนตัว
3. ผู้ต้องหามีสิทธิให้ทนายหรือบุคคลที่ไว้วางใจ เข้าร่วมฟังคำสอบสวน
4. ผู้ต้องหามีสิทธิที่จะให้ญาติเข้าเยี่ยมหรือติดต่อญาติได้ตามสมควร
5. ผู้ต้องหามีสิทธิที่จะได้รับการรักษาพยาบาล เมื่อได้รับบาดเจ็บ
ขณะที่ พล.ต.อ. เดชณรงค์ สุทธิชาญบัญชา โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า กรณีการรุมประชาทัณฑ์ทำร้ายผู้ต้องหา ขณะทำแผนประกอบคำรับสารภาพนั้น ไม่สามารถทำได้ มีความผิดฐานทำร้ายร่างกาย เพราะฉะนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงต้องมีการวางแผนให้ดีก่อนทำแผนประกอบคำสารภาพ โดยจะต้องวางพลกำลังให้พร้อมกับจำนวนประชาชนที่จะมามุงดู แต่หากดูสถานการณ์แล้ว คาดว่าจะเกิดเหตุชุลมุนขึ้น ก็จะต้องมีการยกเลิกการทำแผนทันที
“ส่วนกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจปล่อยให้มีการประชาทัณฑ์เกิดขึ้น เจ้าหน้าที่ตำรวจจะมีความผิดหรือไม่นั้น จะต้องมาพิจารณาในเรื่องของขั้นตอนและระเบียบการทำแผนประกอบคำรับสารภาพว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติตามระเบียบถูกต้องแล้วหรือไม่” พล.ต.อ.เดชณรงค์ กล่าวทิ้งท้าย
thairath
Post A Comment:
0 comments: