2015 ปีแห่งโศกนาฏกรรมของจีน

2015 ปีแห่งโศกนาฏกรรมของจีน
Share it:
ปี ค.ศ. 2015 ซึ่งกำลังจะผ่านพ้นไปนี้ ถือเป็นปีแห่งโศกนาฏกรรมของประเทศจีนอย่างแท้จริง เนื่องจากเกิดอุบัติเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากหลายครั้ง ไล่ตั้งแต่ปีใหม่ที่ควรจะเป็นช่วงเวลาที่ประชาชนเฉลิมฉลอง จนถึงช่วงปลายปียังเกิดเหตุดินถล่มครั้งใหญ่ในเมืองเซินเจิ้นส่งท้ายปีอีก 

จ้าหน้าที่กันฝูงชนออกด้านข้างของถนน เพื่อช่วยเหลือผู้บาดเจ็บจากเหตุเหยียบกัน (ภาพ: AFP)
1. เหตุเหยียบกันตายงานปีใหม่เซียงไฮ

ปีแห่งหายนะของจีน เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ยังไม่เข้าสู่ปี 2015 โดยในช่วงก่อนเที่ยงคืนของวันส่งท้ายปี 2014 ได้เกิดเหตุเหยียบกันตายขึ้นที่ย่าน 'เดอะ บันด์' (the Bund) ใกล้กับจัตุรัส 'เฉินอี้' ในนครเซียงไฮ ซึ่งประชาชนกว่า 300,000 คนออกมาร่วมตัวกันเพื่อเฉลิมฉลองวันขึ้นปีใหม่ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 36 ราย เด็กสุดมีอายุเพียง 12 ปี และมีผู้บาดเจ็บอีก 49 คน
เหตุเหยียบกันเกิดขึ้นในเวลาประมาณ 23.35 น. วันที่ 31 ธ.ค. 2014 ตามเวลาท้องถิ่น โดยจุดเกิดเหตุอยู่บริเวณบันไดทางขึ้นไปยังแท่นชมวิวของแม่น้ำ 'หวงผู่' (Huangpu River) โดยผู้คนต่างพยายามจะขึ้นหรือลงจากแท่นชมวิว ทำให้เกิดการแตกตื่นและสับสน ทำให้ผู้คนที่ยืนชมวิวอยู่บนขั้นบันไดล้มลง และทับคนอื่นๆ

สาเหตุที่ทำให้เกิดเหตุสลดในครั้งนี้ เบื้องต้นเจ้าหน้าที่คาดว่าเกิดจากการขาดมาตรการรักษาความปลอดภัยในสถานที่จัดงาน เนื่องจากผู้จัดยกเลิกการแสดงแสงสี ทำให้จำนวนตำรวจที่มารักษาความปลอดภัยเหลือเพียง 700 นาย ทั้งที่ในปีก่อนหน้านั้น มีตำรวจมาประจำการถึง 6,000 นาย

แต่ก็มีข่าวลือออกมาว่า ในช่วงก่อนเกิดเหตุ มีผู้นำคูปองที่มีลักษณะคล้ายกับธนบัตรเงินดอลลาร์ปลอมมาโปรยที่จุดเกิดเหตุ ทำให้ผู้มาร่วมงานต่างแย่งกันเก็บธนบัตรจนนำไปสู่เหตุเหยียบกัน แต่ตำรวจยืนยันยันว่า เรื่องนี้ไม่ใช่สาเหตุ เพราะภาพวิดีโอในช่วงเวลาเกิดเหตุชี้ว่า คูปองถูกโปรยหลังจากการเหยียบกันเกิดขึ้น
เรือตงฟางจื่อซิงจมแม่น้ำแยงซี โดยโผล่ให้เห็นเพียงท้องเรือเท่านั้น (ภาพ: AFP)
เรือตงฟางจื่อซิงจมแม่น้ำแยงซี โดยโผล่ให้เห็นเพียงท้องเรือเท่านั้น (ภาพ: AFP)
2. เหตุเรือสำราญอับปางในแม่น้ำแยงซี ท่ามกลางพายุ
เหตุการณ์นี้ถือเป็นหายนะภัยทางน้ำที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในรอบ 70 ปีของจีน โดย เรือสำราญ 'เอ็มวี ตงฟางจื่อซิง' (MV Dong Fang Zhi Xing) หรือ 'อีสต์เทิร์น สตาร์' พาผู้โดยสารและลูกเรือ 454 คน ล่องแม่น้ำแยงซีถึงเขตปกครองเจี้ยนหลี่ มณฑลหูเป่ย ก่อนจะประสบกับสภาพอากาศเลวร้าย ซึ่งเชื่อว่าเกิดจากพายุทอร์นาโดระดับ 1 เป็นเหตุให้เรืออับปาง ผู้คนบนเรือเสียชีวิตถึง 442 ราย ขณะที่มีผู้รอดชีวิตเพียง 12 คนเท่านั้น
โศกนาฏกรรมครั้งนี้ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. โดยในเวลาประมาณ 21.28 น. เรือตงฟางจื่อซิงพาผู้โดยสารซึ่งเป็นชาวจีนทั้งหมดจำนวน 405 คน ลูกเรือ 44 คน และไกด์นำเที่ยวอีก 5 คน เดินทางล่องแม่น้ำแยงซีจากเมืองนานกิง ไปยังเทศบาลนครฉงชิ่ง รวมระยะทาง 1,500 กม. แต่เรือกลับประสบพายุทอร์นาโดเมื่อเดินทางใกล้ถึงเมืองจิ้งโจว ก่อนจะเลี้ยวเรือกลับขณะแล่นด้วยความเร็ว 7-8 นอต ทำให้น้ำเข้าท่วมเรือจนเอียงกว่า 45 องศา ก่อนจมลงในแม่น้ำซึ่งลึกประมาณ 15 ม.

เจ้าหน้าที่จีนกู้เรือตงฟางจื่อซิงสำเร็จ (ภาพ: AFP)
เจ้าหน้าที่จีนกู้เรือตงฟางจื่อซิงสำเร็จ (ภาพ: AFP)
หลังเกิดเหตุ มีคำถามเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นมากมาย ทั้งเรื่องการดำเนินการช่วยเหลือเรือ ตงฟางจื่อซิง ช้าเกินไปหรือไม่ เพราะเจ้าหน้าที่เริ่มเคลื่อนไหวหลังจากผู้รอดชีวิต 7 คนสามารถว่ายน้ำเข้าฝั่งไปขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ได้สำเร็จ แต่เวลาก็ผ่านไปกว่า 2 ชั่วโมงครึ่งแล้ว หรือเหตุใดเรือลำนี้จึงจมลงอย่างรวดเร็ว มีการละเมิดมาตรฐานความปลอดภัยใดๆ หรือ และทำไมกัปตันจึงไม่ลดความเร็วเรือทั้งที่ต้องแล่นผ่านพายุ

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ให้คำมั่นว่าจะสืบสวนหาสาเหตุที่ทำให้เรือสำราญลำนี้อับปาง ขณะที่ตำรวจจับกุมกัปตันเรือและวิศวกรคนหนึ่ง ซึ่งอยู่ในกลุ่มผู้รอดชีวิตทั้ง 12 คนไปสอบปากคำ แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีการเปิดเผยผลการสอบสวนอย่างเป็นทางการออกมา นอกจากนี้ ทางการจีนยังเซ็นเซอร์สื่อ และการแสดงความเห็นเกี่ยวกับเหตุเรือล่มครั้งนี้อย่างเข้มงวด โดยให้สื่อในประเทศนำเสนอแต่เรื่องราวด้านบวก อ้างว่าเข้าใจความเจ็บปวดของครอบครัวผู้เสียชีวิต และเพื่อรักษาความสงบในสังคม
ควันไฟยังพวยพุ่ง หลังจากเกิดระเบิดที่โกดังเก็บสารเคมีที่เมืองเทียนจิน (ภาพ: AP)
ควันไฟยังพวยพุ่ง หลังจากเกิดระเบิดที่โกดังเก็บสารเคมีที่เมืองเทียนจิน (ภาพ: AP)
3. เหตุระเบิดที่โกดังเก็บสารเคมีที่ท่าเรือเทียนจิน
เมื่อวันพุธที่ 12 ส.ค. 2015 เกิดระเบิดอย่างรุนแรงหลายระลอกขึ้นที่โกดังเก็บตู้คอนเทนเนอร์บรรจุสารเคมีที่ท่าเรือเทียนจิน ในเขตปินไห่ของเทศบาลนครเทียนจิน ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 173 ราย และมีผู้บาดเจ็บ 797 คน

ก่อนเกิดการระเบิด มีรายงานว่าเกิดไฟไหม้ที่โกดังเก็บของในเขตปินไห่ ซึ่งในเวลาประมาณ 22.50 น. ตามเวลาท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ดับเพลิงกลุ่มแรกที่ถูกส่งมาควบคุมเพลิง ใช้น้ำในการดับไฟ โดยไม่รู้ว่ามีสารเคมีอันตรายถูกเก็บอยู่ที่โกดังแห่งนี้ ทำให้เกิดการระเบิดอย่างรุนแรง ในเวลาประมาณ 23.30 น. สร้างแรงสั่นสะเทือนเทียบเท่าแผ่นดินไหวระดับ 2.3 และสร้างคลื่นกระแทก (shock wave) รุนแรงเท่าระเบิด ทีเอ็นที หนัก 3 ตัน

30 วินาทีต่อมา ก็เกิดระเบิดครั้งที่ 2 โดยทางการจีนเชื่อว่าเกิดจากการระเบิดของสาร แอมโมเนียม ไนเตรท น้ำหนักกว่า 800 ตัน โดยระเบิดรุนแรงกว่าครั้งแรกมากมาย สร้างคลื่นกระแทกรุนแรงเท่ากับระเบิดทีเอ็นทีหนัก 21 ตัน การระเบิดยังสร้างลูกไฟพุ่งขึ้นฟ้าสูงหลายร้อยเมตร และใหญ่พอที่ดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา 'ฮิมาวาริ' ของญี่ปุ่นสามารถถ่ายภาพได้จากวงโคจรโลก ขณะที่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถควบคุมเพลิงไหม้ได้จนถึงช่วงสุดสัปดาห์ และเกิดระเบิดขนาดย่อมอีก 8 ครั้ง ในวันเสาร์ที่ 15 ส.ค.

รถยนต์จำนวนมากได้รับความเสียหายจากการระเบิดและไฟไหม้ (ภาพ: AP)
รถยนต์จำนวนมากได้รับความเสียหายจากการระเบิดและไฟไหม้ (ภาพ: AP)
การระเบิดครั้งนี้ นอกจากจะสร้างความเสียหายแก่อาคารบ้านเรือนที่อยู่ในรัศมี 2 กม.แล้ว ยังทำให้เกิดมลภาวะ เนื่องจากสารเคมีหลายชนิดรั่วไหล มีรายงานว่า โซเดียมไซยาไนด์ ซึ่งมีความเป็นพิษสูงรั่วไหลลงไปในท่อระบายน้ำ และในวันที่ 13 ส.ค. เจ้าหน้าที่ตรวจพบปฏิกิริยาของสาร ซัลเฟอร์ไดออกไซด์, คาร์บอนมอนอกไซด์ และไนโตรเจนออกไซด์ ซึ่งเป็นพิษทั้งหมด ในพื้นที่ 500 ม. รอบจุดระเบิด แต่ปริมาณที่พบยังอยู่ในระดับปลอดภัย

การสืบสวนหลังเกิดเหตุนำไปสู่การจับกุมประธานของบริษัท 'รุยไห่ โลจิสติกส์' เจ้าของโกดังที่เกิดระเบิด ฐานละเมิดกฎหมายการเก็บสารเคมีของจีน ซึ่งกำหนดให้ต้องเก็บห่างจากบ้านเรือน และอาคารสาธารณะอย่างน้อย 1,000 หลา (ราว 914 เมตร) นอกจากนี้ รองประธาน และผู้จัดการอีก 3 คน ก็ถูกจับกุมด้วยเช่นกัน พร้อมกับบุคคลที่ไม่มีการเปิดเผยชื่ออีก 7 คน ขณะที่ นายหยาง ตงเหลียง ผอ.สำนักงานตรวจสอบความปลอดภัยของจีน ถูกจับโดยสำนักงานต่อต้านการคอร์รัปชัน หลังพบว่าเขาเป็นผู้ผ่อนคลายความเข้มงวดของกฎการเก็บสารเคมีอันตราย เมื่อปี 2012
ดินถล่มปกคลุมพื้นที่ของนิคมอุตสาหกรรมในเมืองเซินเจิ้นเป็นบริเวณกว้าง (ภาพ: REUTERS)
ดินถล่มปกคลุมพื้นที่ของนิคมอุตสาหกรรมในเมืองเซินเจิ้นเป็นบริเวณกว้าง (ภาพ: REUTERS)
4. เหตุดินถล่มที่นิคมอุตสาหกรรมในเซินเจิ้น
หายนะครั้งล่าสุดในจีน เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 ธ.ค. โดยฝนที่ตกหนัก ทำให้เนินดินบนเนินเขาถล่มใส่นิคมอุตสาหกรรม 'เหิงไต้อิ๋ว' (Hengtaiyu) ในเมืองเซินเจิ้น มณฑลกวางตุ้ง ทำให้ตึกถล่มกว่า 33 หลัง และดินโคลนปกคลุมพื้นที่กว่า 380,000 ตร.ม. หรือขนาดเท่ากับ 50 สนามฟุตบอล บางจุดดินทับถมกันหนาถึง 10 ม. เป็นเหตุให้มีผู้สูญหายมากกว่า 70 คน พบศพผู้เสียชีวิตแล้ว 1 ราย และทำให้ประชาชนเกือบพันคนต้องอพยพออกจากพื้นที่

เจ้าหน้าที่กู้ภัย และอาสาสมัครหลายพันคนยังคงพยายามค้นหาผู้ที่ยังติดอยู่ใต้ดิน และซากปรักหักพัง โดยความหวังที่จะพบผู้รอดชีวิตเพิ่มเติมนับว่าเลือนรางเต็มที เพราะเหตุการณ์ผ่านมานานกว่า 5 วันแล้ว

เหตุการณ์นี้เมื่อมองเพียงผิวเผิน จะดูเหมือนเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติ เนื่องจากมีความเป็นไปได้ที่ดินจะถล่มลงจากภูเขาเมื่อฝนตกหนัก หากดินที่ถล่มลงมาในครั้งนี้ไม่ใช่เนินดินธรรมชาติ แต่เป็นดิน และเศษวัสดุก่อสร้างที่ถูกนำมาทิ้งเอาไว้บนเนินเขา ทับถมกันนานกว่า 2 ปี จนมีความสูงกว่า 100 ม. จึงอาจจัดได้ว่าเป็นหายนะที่เกิดจากความผิดพลาดของมนุษย์

เรื่องดังกล่าวทำให้ทางการจีนบุกเข้าตรวจค้นสำนักงานของบริษัท 'เซินเจิ้น อี้เสียงหลง อินเวสต์เมนต์ เดเวลอปเมนต์' ซึ่งเป็นเจ้าสิทธิ์ในการบริหารจัดการพื้นที่ที่ขยะจากการก่อสร้างดังกล่าว แต่ตำรวจระบุว่าไม่พบผู้ใด และเมื่อตรวจสอบลึกขึ้น เจ้าหน้าที่ก็พบว่า บริษัท เซินเจิ้น อี้เสียงหลง ไม่มีคุณสมบัติในการบริหารพื้นที่ เนื่องจากไม่ได้ลงทะเบียนด้านบริหารจัดการโลจิสติกส์กับรัฐบาล

เจ้าหน้าที่จีนกำลังปฏิบัติหน้าที่ที่จุดเกิดดินถล่ม (ภาพ: AP)
ความผิดพลาดของมนุษย์
จะเห็นได้ว่า หายนะและโศกนาฏกรรมข้างต้น ล้วนมีสัญญาณที่บ่งชี้ให้เห็นถึงความผิดพลาดของมนุษย์ทั้งสิ้น เผยให้เห็นจุดอ่อนของประเทศจีน ที่เศรษฐกิจกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่เบื้องลึกแล้ว ปัญหาที่เกิดจากมาตรฐานความปลอดภัยที่หย่อนยาน การตรวจสอบทางสิ่งแวดล้อม และการคอร์รัปชั่นยังคงเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ซึ่งเป็นปัญหาที่รัฐบาลจีนของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ต้องหาทางแก้ไขกันต่อไป

thairath
Share it:

ข่าวต่างประเทศ

บทความข่าว

Post A Comment:

0 comments: