นายโกวิท สัจจวิเศษ รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยว่า พระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2558 มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคมที่ผ่านมา สาระสำคัญคือการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตนมากขึ้น เช่น ผู้ประกันมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีคลอดบุตรไม่จำกัดจำนวนครั้ง เหมาจ่ายครั้งละ 13,000 บาท บวกเงินสงเคราะห์การหยุดงานอีก 90 วัน
ผู้ประกันมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตรคราวละไม่เกิน 3 คน เหมาจ่ายรายเดือน เดือนละ 400 บาทต่อคน
ผู้ประกันตนสามารถทำหนังสือระบุบุคคลผู้มีสิทธิรับเงินบำเหน็จชราภาพไว้ล่วงหน้าได้โดยให้มีสิทธิรับร่วมกับทายาท
ขยายความคุ้มครองไปถึงลูกจ้างชั่วคราวทุกประเภทของส่วนราชการที่มีอยู่ประมาณ 300,000 คน และลูกจ้างของนายจ้างที่มีสำนักงานในประเทศและไปประจำทำงานต่างประเทศ
กรณีผู้ทุพพลภาพก่อนวันที่ 31 มีนาคม 2558 มีสิทธิได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ไปตลอดชีวิต
ส่วนที่มีกระแสข่าวว่า สำนักงานประกันสังคมเตรียมที่จะขยายฐานการเก็บเงินสมทบจากผู้ประกันตนและนายจ้าง หลังวันที่ 20 ตุลาคม 2558 นั้น ไม่เป็นความจริงแต่ประการใด ยังคงยืนยันที่จะเก็บเงินสมทบจากผู้ประกันตนและนายจ้างร้อยละ 5 ของฐานเงินเดือนที่กำหนดไว้คือ 1,650-15,000 บาทอยู่เหมือนเดิม
นอกจากนี้ ยังได้เปลี่ยนแปลงกำหนดระยะเวลาการนำส่งเงินสมทบของนายจ้างและโทษปรับกรณีนายจ้างชำระเงินสมทบล่าช้า ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคมนี้เช่นกัน โดยเงินสมทบงวดเดือนกันยายน 2558 นายจ้างต้องชำระเงินสมทบอย่างช้าสุดไม่เกินวันที่ 19 ตุลาคม 2558
สำหรับเงินสมทบงวดเดือนตุลาคม นายจ้างต้องชำระเงินสมทบภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป หากชำระเงินสมทบหลังจากวันที่ 15 พฤศจิกายน นายจ้างจะมีโทษปรับเพิ่มร้อยละ 2 ต่อเดือนของจำนวนเงินสมทบที่ค้างจ่าย โดยคำนวนค่าปรับเป็นรายวัน
แต่เงินที่ปรับต้องไม่เกินจำนวนเงินทั้งหมดที่นายจ้างค้างจ่าย จากเดิมที่คิดค่าปรับร้อยละ 2 ต่อเดือน คำนวณเป็นรายเดือน แม้จะชำระล่าช้าไปเพียงวันเดียวก็ถูกคิดค่าปรับเป็นเดือน
หากนายจ้างไม่นำส่งแบบแสดงรายการนำส่งเงินสมทบ (สปส. 1-10) ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่มีการหักเงินสมทบไว้ จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับ ไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนี้ยังกำหนดโทษกรณีที่ “นายจ้าง” ไม่แจ้งขึ้นทะเบียนประกันสังคมให้ลูกจ้าง การแจ้งขึ้นทะเบียนเท็จ มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
thairath
Post A Comment:
0 comments: