เครือข่ายสังคมเบอร์หนึ่งของโลกอย่างเฟซบุ๊ก (Facebook) กำลังเร่งมือพัฒนาระบบแชต “แมสเสนเจอร์ (Messenger)” ให้เป็นมากกว่าบริการรับส่งสติกเกอร์ทั่วไป ล่าสุด มีข่าวว่าเฟซบุ๊กกำลังทดสอบบริการผู้ช่วยส่วนตัวผ่านแอปพลิเคชันชื่อ “มันนีเพนนี (Moneypenny)” ซึ่งไม่ได้ทำให้ผู้ใช้แต่ละคนได้รับข้อมูลที่ต้องการอย่างสะดวกสบายเหมือนที่แอปเปิลให้บริการระบบสิริ (Siri) อยู่ในขณะนี้เท่านั้น แต่ยังสามารถค้นหา และสั่งซื้อสินค้าที่ต้องการได้ง่ายดายกว่าเดิม
สำนักข่าวดิอินฟอร์เมชัน (Information) รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวนิรนามว่า เฟซบุ๊กกำลังเดินตามรอยบริการอย่างกูเกิลนาว (Google Now) บริการสิริ ของแอปเปิล (Apple) รวมถึงบริการของไมโครซอฟท์ อย่างคอร์ตานา (Microsoft Cortana) ซึ่งผู้ใช้สามารถเอ่ยปาก หรือพิมพ์คำถามที่อยากรู้ให้ระบค้นหาคำตอบจากอินเทอร์เน็ตให้แบบอัตโนมัติ แต่สิ่งที่เฟซบุ๊กทำจะไม่ได้จำกัดที่การบอกข้อมูลพยากรณ์อากาศ หรือจราจร เพราะระบบของเฟซบุ๊กจะทำให้ผู้ใช้สามารถค้นหาสินค้าที่ต้องการซื้อมาใช้งานได้ด้วย
รายงานระบุว่า บริการใหม่ของเฟซบุ๊กจะช่วยให้ผู้ใช้สามารถสอบถามพนักงาน (real people) เพื่อค้นหา หรือสั่งซื้อสินค้า และบริการที่ต้องการได้ จุดนี้รายงานชี้ว่าระบบ Moneypenny จะให้บริการโดยทีมงานที่เป็นมนุษย์ โดยขณะนี้เริ่มต้นทดสอบเป็นการภายในแล้วที่เฟซบุ๊ก
ในขณะที่เฟซบุ๊กไม่ออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับรายงานที่เกิดขึ้น นักสังเกตการณ์วิเคราะห์ว่าบริการ Moneypenny มีความคล้ายคลึงกับบริการประเภทผู้ช่วยสำหรับซื้อสินค้าส่วนบุคคล ซึ่งในสหรัฐฯ มีเจ้าตลาดชื่อ “เมจิก (Magic)” และ “โกบัตเลอร์ (GoButler)” อยู่ ทั้งคู่เป็นบริการที่ผู้ใช้สามารถส่งข้อความถึงทีมงานให้ช่วยซื้อสินค้าและจัดส่งให้เพื่อความสะดวกสบาย โดยทีมงานของ 2 บริการนี้สามารถรับข้อความจากผู้ใช้ได้แบบ 24 ชั่วโมง พร้อมกับรับรายได้จากค่าธรรมเนียม หรือส่วนแบ่งค่านายหน้าจากบริษัทพันธมิตร
ข่าวลือเรื่องการสร้างบริการ Moneypenny นี้ถือเป็นข่าวที่สะท้อนความพยายามของเฟซบุ๊กในการสร้างรายได้ให้แก่ตัวเอง จุดนี้นักสังเกตการณ์เชื่อว่า เฟซบุ๊กมีโอกาสงามรออยู่ เนื่องจากบริการแชตของเฟซบุ๊กนั้นมีผู้ใช้งานมากกว่า 600 ล้านคน
นอกจากนี้ ข่าวนี้ยังตอกย้ำยุทธศาสตร์ของเฟซบุ๊กที่เปิดกว้างสู่แบรนด์มากขึ้น โดยที่ผ่านมา เฟซบุ๊กมีการปรับให้ผู้ใช้สามารถคลิกซื้อสินค้ากับแบรนด์ที่ต้องการได้บนแอปพลิเคชันเฟซบุ๊กเลย ต่างจากอดีตที่ผู้ใช้และแบรนด์ต้องหลบไปคลิกซื้อ หรือโทร.สั่งที่เว็บไซต์ของแบรนด์โดยเฉพาะ
manager
Post A Comment:
0 comments: