เมื่อ สปป.ลาว ตำหนิมารยาท “คนไทย“ ในการไปดูงานต่างแดน

เมื่อ สปป.ลาว ตำหนิมารยาท “คนไทย“ ในการไปดูงานต่างแดน
Share it:

การเดินทางไปดูงานของหน่วยงานทั้งราชการ รัฐวิสาหกิจ และเอกชนของไทยในต่างประเทศ มีมานาน โดยหลักการเหตุผลของการเดินทางไปดูงาน คงจะเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า เพื่อไปดูประสบการณ์ การบริหาร การทำงานในกิจการต่างๆที่ประเทศหรือหน่วยงานเหล่านั้นประสบความสำเร็จ เพื่อผู้ดูงานจะนำแนวทางมาปรับใช้กับหน่วยงานของตน ให้การทำงานลุล่วง มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ที่ผ่านมา เรามักได้ยินได้เห็น ไม่ว่าข้าราชการ นักการเมือง พนักงานเอกชน นิยมไปดูงานต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศแถบยุโรป อเมริกา เป็นต้น เพราะอาจจะเห็นว่าประเทศเหล่านี้มีการพัฒนา มีการดำเนินกิจการในบางด้านประสบความสำเร็จ ควรกับการไปดูไปศึกษามาเป็นแบบอย่างในการพัฒนาหน่วยงานของตนต่อไปในภายหน้า

เรื่องการดูงาน เป็นประเด็นที่น่าสนใจขึ้นมา คือเมื่อวานนี้ (8 ก.ค.) พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ได้ออกมาเปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้กระทรวงการต่างประเทศ(กต.)ได้มีหนังสือแจ้งว่า สถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ได้รายงานให้ทราบว่า

ปัจจุบันมีหน่วยงานราชการ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาของไทยนิยมเดินทางไปหารือและศึกษาดูงานที่หน่วยงานราชการและสถาบันการศึกษาของ สปป.ลาว เป็นจำนวนมาก

แต่ทั้งนี้ ได้พบปัญหาและข้อขัดข้องในด้านการจัดสถานที่รองรับคณะผู้ดูงาน การแต่งกายที่ไม่เหมาะสมของคณะผู้ดูงาน มารยาทในการเข้าฟังการบรรยาย และการให้ความสนใจกับหัวข้อที่นำเสนอ ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการไปดูงาน เป็นต้น

กต.จึงได้กำหนดแนวปฏิบัติในการหารือและศึกษาดูงานใน สปป.ลาว เพื่อให้หน่วยงานยึดถือปฏิบัติ เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดและป้องกันปัญหาที่อาจจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์

น่าตกใจหรือไม่ ที่ทางการลาวถึงกับร้องเรียนมายังกระทรวงการต่างประเทศของคณะดูงานชาวไทย ว่า การไปดูงานของคณะชาวไทยไร้มารยาท ไม่ให้เกียรติสถานที่ แต่งการไม่เหมาะสม และที่สำคัญคือ ไม่สนใจฟังกับหัวข้อที่นำเสนอ.....?

อย่างที่กล่าวข้างตน ว่าการไปดูงาน ก็เพื่อไปดูประสบการณ์ของเขาเพื่อนำมาปรับใช้...แต่ทำไมคนไปดูงาน กลับไม่สนใจหัวข้อการนำเสนอ...แล้ว ไปดูงานกันทำไม....?

หากใครมีโอกาส ได้ติดตามคณะดูงานในของส่วนราชการ คงพอจะนึกภาพออกว่า แท้จริง การไปดูงาน หมายถึงอะไรกันแน่ อยากให้ลองสังเกตดูว่า การดูงานของส่วนราชการ ของนักการเมืองในอดีตมักจะมีในช่วงปลายปี ก่อนสิ้นปีงบประมาณเป็นหลัก...เพราะอะไร..?

การดูงานจำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ที่พัก อาหารการกิน ที่ไม่ใช่จำนวนน้อยๆ ยิ่งหน่วยงานใหญ่ๆ มีคณะดูงานคณะใหญ่ มีผู้ติดสอยห้อยตาม มากๆ ด้วยแล้ว งบประมาณหรือค่าใช้จ่ายมิใช่น้อยเลย

การดูงาน ส่วนใหญ่มักจะมีกิจกรรมไปดูงานตามวัตถุประสงค์จริง แต่เป็นการไปดูจริงๆ คืออาจจะไปเดินดูสถานที่หรือการดำเนินการของโครงการ ฟังบรรยายประกอบ ไม่น่าจะเกิน 2-3 ชั่วโมง ความตั้งใจจะไปศึกษาอย่างเป็นทางการจริงๆ เชื่อได้ว่าไม่อยู่ในวาระการไปดูงานในลักษณะนี้

การไปดูงานหรือศึกษาเพื่อแก้ไขอย่างจริงจัง ส่วนใหญ่มักจะมีวาระที่ส่งเจ้าหน้าที่เฉพาะทางที่ต้องทำงาน จริงๆ ไม่เพียงกี่คนไปศึกษาอย่างจริงๆ จังๆ เท่านั้น

การไปดูงานของคณะที่ไปดูงานในลักษณะที่ไปกันมากๆ จึงมีคนที่หลากหลายส่วน บางคนอาจไม่มีความรู้ในเรื่องในส่วนที่ไปดูงาน จึงทำให้ไปฟังบรรยายแล้วไม่เข้าใจหัวข้อ เลยทำให้ไม่สนใจที่จะฟังการบรรยาย ตามที่เขาร้องเรียนมา

การไปดูงานสั้นๆ แล้วมีโปรแกรมเดินทางไปดูอย่างอื่นต่อในวันเดียวกัน จึงทำให้บางคนละเลย ให้ความสำคัญกับสถานที่ แต่งกายพร้อมจะไปอีกงานที่ไม่ใช่การดูงานตามเป้าประสงค์ก็ได้

สิ่งเหล่านี้จึงเป็นเหตุ ที่ทำให้เขา ร้องเรียนมาและ สอนมารยาทการดูงาน การแต่งกายกลับมา.........
Share it:

บทความข่าว

Post A Comment:

0 comments: