เครื่องแฟ็กซ์ คุณงามความดีที่ยังไม่สูญหายไปจากโลกใบนี้

เครื่องแฟ็กซ์ คุณงามความดีที่ยังไม่สูญหายไปจากโลกใบนี้
Share it:
ดาวน์โหลด
ช่วงอายุของซู่ชิง (และของคุณผู้อ่านในวัยรุ่นราวคราวเดียวกันหรือมากกว่า) นับว่าเป็นช่วงอายุที่มีสีสันมากในแง่ของเทคโนโลยี

เพราะอยู่ในช่วงคาบเกี่ยวระหว่างการเกิดขึ้นของอะไรใหม่ๆและการได้เห็นสิ่งเหล่านั้นตายจากไปด้วยสปีดที่รวดเร็วยิ่งกว่าตอนเกิดทั้งแผ่นฟล็อปปี้ดิสก์ที่ในสมัยนั้นเคยเป็นของจำเป็นที่ขาดไม่ได้ของคนใช้คอมพิวเตอร์ แต่ในตอนนี้ถ้าใครยังเก็บอยู่ก็คงจะพอเอามาทำเป็นของแต่งบ้านเรโทร อย่างที่รองแก้วสวยๆ หรืออะไรทำนองนั้น

แผ่นเลเซอร์ดิสก์แผ่นใหญ่ เพจเจอร์ วอล์กแมน และอื่นๆ อีกมากมายที่ในอนาคตอีกไม่ไกลเราคงจะหาดูมันได้จากในพิพิธภัณฑ์จัดแสดงเทคโนโลยีเก่าเท่านั้น

และหากเราจะพูดถึงเทคโนโลยีที่หายไปจากชีวิต อีกสิ่งหนึ่งที่จะต้องนึกถึงขึ้นมาก็น่าจะเป็นอุปกรณ์อย่างเครื่องโทรสาร หรือแฟ็กซ์ ที่แค่ไม่กี่ปีก่อนหน้านี้เคยเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตพนักงานออฟฟิศชนิดที่แยกออกจากกันไม่ได้แต่ในเมื่อตอนนี้อีเมลกลายเป็นเรื่องที่ส่งได้ง่ายแค่ปลายนิ้วคลิก มันก็น่าจะไม่มีที่มีทางให้แฟ็กซ์อยู่ต่อไปได้อีกแล้ว

น่าแปลกตรงที่ว่าซู่ชิงเพิ่งจะไปเห็นข้อมูลมาว่าในยุคอินเตอร์เน็ตรุ่งเรืองแบบนี้ แต่แฟ็กซ์ก็ยังสามารถดำรงอยู่ได้ และอยู่ได้ดียิ่งกว่าที่คิดเสียอีก

แน่นอนว่าความจำเป็นของการใช้แฟ็กซ์ในยุคนี้ลดลง
แต่ข้อมูลที่ คุณโจนาธาน คูเปอร์สมิธ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยในเท็กซัสที่เขียนหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของอุปกรณ์ต่างๆ ภายในออฟฟิศระบุเอาไว้ว่ายังมีคนอีกหลายล้านในโลกนี้ที่ยังใช้แฟ็กซ์อยู่ทุกวัน และมีแนวโน้มที่จะใช้ต่อไปอย่างเหนียวแน่นในอนาคต

ที่ยิ่งน่าประหลาดใจมากไปกว่านั้นก็คือทั้งผู้บริโภคและสำนักงานห้างร้านต่างๆ ก็ยังคงสั่งซื้อเครื่องแฟ็กซ์ใหม่ๆ อยู่เรื่อยๆ

ในขณะที่ซู่ชิงยังไม่แน่ใจเลยด้วยซ้ำว่าถ้าตอนนี้อยากจะซื้อเครื่องแฟ็กซ์สักเครื่องจะต้องไปที่ไหน เดินเข้าไปในห้างสรรพสินค้าหรือร้านขายอุปกรณ์สำนักงานจะยังมีวางขายกันทั่วไปอยู่หรือเปล่า
บริษัทขายเครื่องแฟ็กซ์ชั้นนำอย่าง Brother จากประเทศญี่ปุ่นที่สัมภาษณ์สำนักข่าวเอาไว้ว่าเมื่อปี 2005 บริษัทขายเครื่องแฟ็กซ์ได้ 20 ล้านเครื่อง และทุกวันนี้ยอดขายแม้จะลดลงแต่ก็ยังอยู่ในหลักหลายล้านอยู่ ก็เลยได้หัวเราะดังๆ

แลพูดเยาะเย้ยอย่างสะใจว่า "ตลาดก็ยังดำรงอยู่ได้ พวกที่ทำนายเอาไว้เมื่อ 10 ปีก่อนว่าเครื่องแฟ็กซ์จะสูญหายไปนั้นก็ทำนายผิดทั้งเพ"

หนึ่งในสาเหตุที่เครื่องแฟ็กซ์ยังไม่สูญหายไปจากโลกใบนี้นั้น หลายๆ คนก็คงจะพอเดาได้ ซู่ชิงหาคำสุภาษิตที่น่าจะใกล้เคียงกับปรากฏการณ์นี้มากที่สุดมาให้ซึ่งก็คือ "ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก" นั่นเองค่ะ

ผู้ใช้งานเจเนอเรชั่นก่อนๆ ยังคงยึดติดกับการใช้เครื่องแฟ็กซ์เพราะพวกเขาบอกว่านี่คือสิ่งที่พวกเขาใช้กันมาแทบจะตลอดชีวิตการทำงานในสำนักงาน

ดังนั้น นี่เป็นเครื่องมือสำหรับพนักงานออฟฟิศที่มีปัญหากับการต้องเรียนรู้ เทคโนโลยีใหม่ๆ ไม่เหมือนกับเจเนอเรชั่นหลังๆ ที่พร้อมจะเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็ว
แต่การไม่ยอมเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ก็เป็นเพียงแค่หนึ่งในสาเหตุที่ค้ำจุนให้เครื่องแฟ็กซ์เดินหน้าต่อไปได้เท่านั้น

เพราะอีกสองสาเหตุล้วนเป็นคุณงามความดีจากตัวมันเองล้วนๆ

ซึ่งก็คือการที่แฟ็กซ์เป็นเครื่องมือที่ทำให้เราสามารถส่งเอกสารที่ประกอบไปด้วยลายมือของตัวเอง อย่างการเซ็นเอกสารส่งไปให้อีกฝ่ายได้ง่ายๆ และเอกสารที่มีลายเซ็นแบบนี้เป็นเอกสารที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นต้นฉบับ

ไม่เหมือนกับเวลาที่เราส่งไฟล์เอกสารกันผ่านทางอี-เมล ทำให้ในหลายๆ ประเทศ วงการอย่างธนาคาร อสังหาริมทรัพย์ แพทยศาสตร์ และการติดต่อสื่อสารทางด้านกฎหมาย ยังคงมองว่าการส่งเอกสารผ่านทางแฟ็กซ์เป็นเรื่องที่จำเป็นมาก โดยเฉพาะในบางประเทศที่น่าจะยังมีกฎระเบียบกำกับไว้ชัดเจนเลยว่าจะต้องส่งเอกสารผ่านทางแฟ็กซ์เท่านั้น

สาเหตุสุดท้ายที่เมกเซนส์ไม่แพ้ข้อที่ผ่านมาก็คือ สัญญาณแฟ็กซ์เป็นอะไรที่ไม่สามารถไปดักหรือขัดขวางได้ ทำให้มั่นใจว่าเอกสารที่ส่งไปจะไม่ถูกนำไปตัดต่อหรือดัดแปลงในระหว่างทางนั่นเอง

ในสหรัฐอเมริกาเครื่องแฟ็กซ์แทบจะสูญหายและไม่มีให้เห็นอีกต่อไปแล้ว แบรนด์อย่าง Xerox ที่เป็นคนทำเครื่องแฟ็กซ์สำหรับลูกค้าสาธารณชนทั่วไปเป็นเครื่องแรกก็เลิกขายแฟ็กซ์รุ่นพื้นฐานไปตั้งแต่เมื่อหลายปีที่แล้ว

แต่ประเทศที่แฟ็กซ์ยังไปต่อได้อย่างงดงามก็คือประเทศญี่ปุ่น ที่การใช้งานแฟ็กซ์ไม่ว่าจะเป็นในบ้านหรือในสำนักงานก็ยังเป็นที่ได้รับความนิยมมาโดยตลอด

โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงวัยที่ถนัดการเขียนหนังสือด้วยมือมากกว่าจะพิมพ์บนคีย์บอร์ด
ส่วนคนในกลุ่มวัยอื่นๆ ก็ยังใช้กันอย่างหลากหลายเพราะพวกเขาบอกว่าการส่งแฟ็กซ์เหมาะสำหรับการเขียนโน้ตด้วยลายมือเพราะภาษาญี่ปุ่นที่มีตัวเขียนจำนวนมากนั้นบางครั้งจะพิมพ์กับคีย์บอร์ดของสมาร์ตโฟนหรือคอมพิวเตอร์ก็ทำได้ยากกว่าจับปากกามาเขียนขยุกขยิกแป๊บเดียวก็พร้อมส่งแล้ว
ทั้งหมดนี้ทำให้ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มียอดขายแฟ็กซ์สูงที่สุด คือเมื่อปี 2014 ยังคงขายได้มากถึง 1.2 ล้านเครื่อง ปีนี้อาจจะตกลงไปนิดหน่อยน่าจะไปอยู่ที่ 1.1 ล้านเครื่อง ตามมาด้วยยุโรป อย่างในฝรั่งเศสที่มียอดขายแฟ็กซ์ที่ 40,000 เครื่องในปี 2013

อีกข้อสังเกตที่น่าสนใจก็คือบางทีเราคิดว่าแฟ็กซ์ได้หายไปจากเราแล้วโดยสิ้นเชิง แต่เราลืมคิดไปว่ามันไม่ได้หายไปไหนหรอก มันแค่เปลี่ยนรูปของมันจากการเป็นอุปกรณ์สแตนอะโลนที่ใช้เดี่ยวๆ เข้าไปแฝงอยู่ในอุปกรณ์ประเภทออลอินวัน เป็นได้ทั้งปริ๊นเตอร์ ทั้งเครื่องสแกน เครื่องถ่ายเอกสาร และเครื่องแฟ็กซ์

คุณผู้อ่านก็น่าจะมีเครื่องแบบนี้ตั้งอยู่ในห้องทำงานที่บ้านกันด้วยใช่ไหมคะ
ดังนั้น ต่อให้ "เครื่องแฟ็กซ์" หายไป แต่ฟังก์ชั่นของการ "ส่งแฟ็กซ์" ก็ไม่ได้ล้มหายตายจากไปด้วย อย่างน้อยๆ มันก็เป็นแบ็กอัพชั้นดีในตอนที่ระบบการสื่อสารแบบอื่นมีปัญหา

เช่นเดียวกับ "เครื่องพิมพ์ดีด" ที่ไม่ว่าตอนนี้เราจะคุ้นเคยกับการจิ้มคีย์บอร์ดเสมือนจริงบนหน้าจอสัมผัส หรือการพิมพ์งานบนคีย์บอร์ดก๊อกๆ แก๊กๆ แค่ไหน แต่สำหรับคนอีกจำนวนมาก การได้กดนิ้วลงไปแรงๆ บนแป้นเครื่องพิมพ์ดีด การได้หมุนใส่กระดาษและได้ยินเสียงพิมพ์ดีดคลอความคิดไปด้วยมันก็เป็นสิ่งที่ทดแทนไม่ได้

บทความจาก matichon โดย จิตต์สุภา ฉิน
Share it:

สกู็ปไลฟ์สไตล์

Post A Comment:

0 comments: