คว่ำกระทง...พฤติกรรมค้นเหรียญ แหกกระทง ขว้างธูปเทียน จ้วงหยิบเงิน ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่จะออกมาพร้อมเพรียงกันโดยมิได้นัดหมายในคืนวันเพ็ญ เดือน 12 เป็นประจำทุกปี จนเป็นที่โจษจันของผู้คนในสังคมว่า พฤติกรรมดังกล่าวนั้น ย่ำยีหัวใจ ความเชื่อ ความศรัทธาของเจ้าของกระทงอย่างไม่ใยดี
กระนั้น จะมีใครรู้บ้างไหมว่า ในทางกฎหมาย พฤติกรรมดังกล่าวสามารถเอาผิดได้หรือไม่? หรือในทางศาสนาและวัฒนธรรม ผิดบาปอย่างไร? ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ เล็งเห็นถึงจุดเล็กๆ ในสังคม แต่อาจกัดลึกทางความรู้สึก...ฟังทุกมุม คิดทุกมิติไปพร้อมๆกันกับเรา!
หากเจ้าของทรัพย์ทิ้งเงินที่อยู่ในกระทง ซึ่งลอยออกไปจากตัวเจ้าของแล้ว ถือว่าสละการครอบครองทรัพย์สิน |
เจ้าของกระทงปล่อยกระทงไปแล้ว ถือเป็นการสละกรรมสิทธิ์ในกระทงและเงินในกระทงด้วย คว่ำกระทง ฉกเงิน เจ้าของกระทงเอาผิดได้หรือไม่? |
ส่วนกรณีที่ 2 กรณีที่เจ้าของกระทงปล่อยกระทงให้ลอยไป แล้วหันหลังกลับบ้าน กระทั่งมีบุคคลอื่นว่ายน้ำไปคว่ำกระทง เพื่อหยิบเงินในกระทง กรณีนี้ถือว่าเจ้าของกระทงตั้งใจสละกรรมสิทธิ์ 100% ซึ่งไม่มีความผิดทางอาญา
พล.ต.ต.ปิยะพันธ์ ปิงเมือง รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยข้อมูลด้านกฎหมายเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวว่า หากเป็นกรณีที่เจ้าของทรัพย์สินยังถือครองทรัพย์อยู่กับตัวถือว่ามีความผิด แต่ถ้าเจ้าของทรัพย์ทิ้งเงินที่อยู่ในกระทง ซึ่งลอยออกไปจากตัวเจ้าของแล้วถือว่า สละการครอบครองทรัพย์สิน โดยเงินที่คนมักจะใส่ลงไปในกระทงมี 1 บาท 10 บาท ถือเป็นการทำทาน โปรยทาน แต่ถ้ากระทงยังอยู่กับเนื้อกับตัวเจ้าของ และไปเอาจากเขาถือว่าลักทรัพย์ทันที
ขณะเดียวกัน เมื่อมีการทำลายกระทงหรือคว่ำกระทง ซึ่งผู้เป็นเจ้าของได้ลอยไปแล้วนั้น ไม่ถือว่ามีความผิด เนื่องจากทรัพย์สินที่เอาออกไปลอยกระทงนั้น ผู้ที่เป็นเจ้าของไม่ได้คาดหวังว่าทรัพย์สินจะต้องคืนกลับมาที่ตัวเอง เหมือนกับเป็นการปล่อยทิ้งไปแล้ว และหากใครเกิดความรำคาญผู้ที่มาเก็บเงินในกระทงและทำกระทงเสียหาย สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจจับได้ในข้อหาก่อความเดือดร้อนรำคาญ ปรับไม่เกิน 1,000 บาท แต่ข้อหาลหุโทษสามารถว่ากล่าวตักเตือนได้
ประเพณีลอยกระทงเป็นการลอยเคราะห์หรือสะเดาะเคราะห์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ เพื่อสำนึกบุญคุณของน้ำที่ได้นำมาใช้ และขอขมาลาโทษในการทำให้แหล่งน้ำนั้นๆ ไม่สะอาด |
ในทางปฏิบัติคือการตัดเล็บ ตัดผม ใส่ลงไปในกระทง ไม่ใช่การใส่เงินเหรียญลงไป |
นางพิมพ์รวี วัฒนวรางกูร อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม กล่าวตามหลักประเพณีลอยกระทงที่ถูกต้องว่า การนำเงินเหรียญ หรือแบงก์ใส่ลงไปในกระทง ซึ่งมีความเชื่อว่า ปล่อยให้เงินลอยไปกับกระทง จะสามารถทิ้งทุกข์ทิ้งโศกออกไปจากชีวิต แต่อันที่จริงแล้ว การกระทำดังกล่าวไม่มีหลักฐานยืนยันแน่นอนว่าเริ่มต้นจากยุคใด และใครเป็นผู้ริเริ่ม แต่การใส่เงินเหรียญลงไปในกระทงไม่ใช่หลักปฏิบัติในทางประเพณีที่ถูกกำหนดไว้
ทั้งนี้ ประเพณีลอยกระทงเป็นการลอยเคราะห์หรือสะเดาะเคราะห์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสำนึกบุญคุณของน้ำที่ได้นำมากินนำมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน รวมทั้งขอขมาลาโทษในการทำให้แหล่งน้ำนั้นๆ ไม่สะอาด
พฤติกรรมหยิบเงินออกจากกระทง แล้วคว่ำกระทงทิ้ง เป็นการทำลายศรัทธาของผู้ที่มาลอยกระทง |
กระทรวงวัฒนธรรมเริ่มรณรงค์ไม่ใส่เงินเหรียญลงไปในกระทงในปีต่อๆ ไป
“ในทางปฏิบัติคือ การตัดเล็บ ตัดผม ใส่ลงไปในกระทง ไม่ใช่การใส่เงินเหรียญลงไป ซึ่งการนิยมใส่เงินเหรียญลงไปเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาใหม่ ไม่มีที่มาที่ไป กลายเป็นหลักปฏิบัติส่วนบุคคลผิดๆ ซึ่งเราจะไปห้ามไม่ได้ จึงทำให้เกิดกรณีมีคนลงไปเก็บเงินในกระทง โดยอาจจะเกิดอันตรายตามมาได้” อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กล่าวตามหลักประเพณีอันดีงาม
อย่างไรก็ตาม ทางกรมส่งเสริมวัฒนธรรมจึงได้เริ่มรณรงค์ปีนี้เป็นปีแรก เพื่อส่งเสริมให้เกิดการปฏิบัติที่ถูกต้อง โดยไม่ใส่เงินเหรียญลงไปในกระทงในปีต่อๆ ไป
พระราชธรรมนิเทศ หรือ พระพยอม กัลยาโณ เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว กล่าวถึงการกระทำของนักคว่ำกระทงว่า พฤติกรรมหยิบเงินออกจากกระทง แล้วคว่ำกระทงทิ้ง เป็นการทำลายศรัทธาของผู้ที่มาลอยกระทงอย่างร้ายกาจ
“ไปเอาเงินในกระทงมาแล้ว ยังจะไปคว่ำกระทงเขาอีก คนเหล่านี้เป็นบาปแน่นอน เพราะผู้ที่อยู่เบื้องหน้าเขากำลังทำความดี สร้างเจริญศรัทธา ทำไมถึงมีจิตใจต่ำทรามเช่นนี้ จิตใจของคนยุคนี้เกิดมาเพื่อทำลายล้าง และที่สำคัญมือของคนเรานั้น ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อสร้างสรรค์ ไม่ใช่ให้เอามาใช้ทำลาย” พระพยอม กัลยาโณ กล่าวเสียงดังได้ยินโดยทั่วกัน
โดยพระพยอม กล่าวเตือนนักคว่ำกระทงทั้งหลายว่า มนุษย์ต้องใช้มือเพื่อสร้างสรรค์สิ่งดีๆ เพื่อให้โลกน่าอยู่ และเราต้องรู้จักระงับยับยั้งอารมณ์ของมนุษย์ผู้ทำลาย อย่าใช้มือบั่นทอนโลกให้มีแต่สีดำมืด เพราะก็จะเป็นเรานั่นเองที่ต้องทนอยู่โลกสีเทาๆ ใบนี้ต่อไป.
thairath
Post A Comment:
0 comments: