35 ปีชุบชีวิต ปิดม่าน ‘บ้านครูน้อย’

35 ปีชุบชีวิต ปิดม่าน ‘บ้านครูน้อย’
Share it:
ครูน้อย-450x300
กลายเป็นเรื่องน่าเศร้า “เสียใจ” สำหรับเหล่าเด็กน้อยผู้ยากจน-ไร้ที่พึ่ง หลังจาก นางนวลน้อย ทิมกุล หรือ “ครูน้อย” ผู้ก่อตั้ง “สถานรับเลี้ยงเด็กยากจนบ้านครูน้อย” เตรียมปิดสถานรับเลี้ยงเด็กภายในสิ้นเดือน ก.ค.นี้ พร้อมประกาศขายบ้านเพื่อนำเงินมาชดใช้หนี้สิน ส่งผลให้เด็ก 65 คนที่อยู่ในความดูแลอาจต้อง “เคว้งคว้าง”

“ครูน้อย” เผยถึงสาเหตุที่ต้องตัดสินใจ “ปิดสถานเลี้ยงเด็กยากจน”แห่งนี้ ก็เนื่องมาจากปัญหาหนี้สิน และไม่สามารถรับภาระค่าใช้จ่ายที่มากถึงวันละ 6,500 บาท หรือ เดือนละประมาณ 200,000 บาทได้ แม้ว่าก่อนหน้านี้ จะมีผู้ใจบุญช่วยบริจาคบ้าง แต่ก็ยังไม่เพียงพอ จนทำให้เกิดปัญหาหนี้สินบานปลาย ประกอบกับสุขภาพร่างกายในวัย 72 ปีที่เริ่มทรุดโทรมลงเรื่อยๆ

สถานเลี้ยงเด็กยากจนบ้านครูน้อย” ตั้งอยู่ภายในซอยราษฎร์บูรณะ26 กทม. เริ่มก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2523 และได้รับการรับรองจากกรมประชาสงเคราะห์ ให้เป็นสถานสงเคราะห์เด็กยากจน ตั้งแต่ปี 2530 มาจนถึงปัจจุบันรวมระยะเวลานาน 35 ปี เพื่อดำเนินการช่วยเหลือเด็กยากไร้ และเด็กเร่ร่อน ให้มีโอกาสได้ศึกษาเล่าเรียนเท่าเทียมกับเด็กอื่นๆในสังคม

“ชีวิตเลือกเกิดไม่ได้ หลายชีวิตล้วนประสบปัญหา เขาเลือกเกิดไม่ได้ แต่เราช่วยกันเลือกทางเดินที่ดีให้แก่พวกเขาได้ เราจงมาร่วมด้วยช่วยกัน เพื่อชีวิตน้อยๆเหล่านี้”

นี่คือคำจำกัดความ และแนวคิดของ “บ้านครูน้อย” ที่ดำเนินการมาตลอดระยะเวลา 35 ปี
ครูน้อย” เติบโตจากครอบครัวที่มีฐานะยากจน จึงเข้าใจความลำบากของเด็กๆ ที่ไม่มีโอกาสทางการศึกษา และขาดความพร้อม แม้เพียงปัจจัยพื้นฐานของชีวิต ครูน้อยมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือเด็กเหล่านี้ ให้พ้นจากวิกฤตของชีวิต และเติบโตเป็นทรัพยากรที่มีคุณภาพของประเทศในวันข้างหน้า

ครูน้อย” เปรียบเสมือน “แม่พระผู้ใจบุญ” ผู้ชุบชีวิตใหม่ให้แก่เด็กผู้ยากไร้ อีกทั้งยังเป็น “นักสู้ผู้ยิ่งใหญ่” ดิ้นรนฝ่าฟันอุปสรรคมามากมาย โดยไม่ย่อท้อต่อความกดดันรอบด้าน เพื่อให้สถานเลี้ยงเด็กแห่งนี้ยังคงอยู่

นอกจากนี้ “ครูน้อย” ได้สร้างตำนานการต่อสู้ให้กับตัวเองและสังคม ด้วยการก่อตั้ง “บ้านครูน้อย” จากเงินเพียง 20 บาท เธอยอมนั่งสอนหนังสือเหล่าเด็กน้อยกลางน้ำท่วม โดยการต้องเอาเท้าแช่อยู่ในน้ำนานเป็นวัน ส่งผลให้ทุกวันนี้เธอต้อง “เสียนิ้วเท้าและเป็นอัมพฤกษ์ครึ่งตัว” จากการทุ่มเทเวลาทั้งหมดของชีวิต เพื่อเด็กๆที่อยู่ภายในการดูแล จนไม่มีเวลาดูแลร่างกาย ที่นับวันจะทรุดโทรมไปตามกาลเวลา

ความพอเพียง” ตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เป็นหลักสำคัญที่ “ครูน้อย” ใช้ในการดำเนินชีวิต ซึ่งครูน้อยเชื่อมั่นว่า “เมื่อใดที่หัวใจรู้จักพอ เราจะค้นพบความสุขได้ไม่ยาก
118
ความตั้งใจสูงสุด ของ “ครูน้อย” ตั้งแต่เริ่มต้นเปิด “สถานรับเลี้ยงเด็ก” คืออยากให้เด็กทุกคน เติบโตมาเป็นคนดีของสังคม อยากให้เด็กทุกคนมีการศึกษาที่ดี พร้อมกับการอบรมให้เด็กมีคุณธรรม ไร้ความทะเยอทะยานเกินชีวิตความเป็นจริง พร่ำสอนเด็กๆ ให้รู้จักพอใจในสิ่งที่เป็น เพื่อจะพบกับความสุขที่แท้จริง ซึ่งนั่นคือรางวัลที่ยิ่งใหญ่แล้ว

จากวันนั้นถึงวันนี้ สิ่งที่ “ครูน้อย” ค้นพบจากชีวิตส่วนตัว และการช่วยเหลือเด็กยากไร้คือ ความรวยความจนไม่สามารถวัดคุณค่าของคนได้ เด็กยากไร้บางคนเจียมตัวเหลือเกินกับการอยู่ในสังคม เพราะฉะนั้นจึงไม่อยากให้สังคม “ปิดกั้น” พวกเขาจากคนทั่วไป

“การปิดสถานเลี้ยงเด็กยากจนบ้านครูน้อย” นี่คงเป็นข่าวร้าย สำหรับเด็กทั้ง 65 คนที่เคยได้รับความอบอุ่นจากบ้านหลังนี้ และนี่คงเป็นการตัดสินใจอย่างจริงจังและครั้งสุดท้ายของ “ครูน้อย” ที่จะปิดบ้านหลังนี้อีกครั้ง

หลังจากก่อนหน้านี้เมื่อปี 2553 เคยจะทำการปิดตัวแล้วครั้งหนึ่ง จากปัญหาค่าใช้จ่ายที่สูงเกินจะแบกรับไหว กระทั่งไปกู้เงินนอกระบบมีหนี้สูงถึง 8 ล้านบาท จนหลายฝ่ายได้เข้ามาให้ความช่วยเหลือและสามารถปลดหนี้ได้สำเร็จ กระทั่งล่าสุดประกาศจะปิดตำนาน “บ้านครูน้อย”ในสื้นเดือนก.ค.นี้
ถึงแม้วันนี้ “บ้านครูน้อย” จะต้องปิดตัวลง แต่เชื่อว่าความรัก ความผูกพันระหว่างเด็กและครู ที่มีมาอย่างยาวนานและมากกว่าคำว่า “พ่อแม่”คงไม่หมดไป…

และหลังจากนี้คงต้องเป็นหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐ ในการยื่นมือเข้าช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ให้รอดพ้นจาก ชะตากรรมที่อาจต้องเคว้งคว้าง
mthai
Share it:

บทความข่าว

Post A Comment:

0 comments: